วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555

บทที่ 1

 
บทที่ 1
 
บทนำ
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
                   พระพุทธศาสนากำเนิดขึ้นในชมพูทวีปเมื่อประมาณ 2553 ปีมาแล้ว หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าได้สังคายนาครั้งที่ 1 เมื่อพระพุทธเจ้าได้ปรินิพพานแล้วมีพระมหากัสสปะมหาเถระเป็นประธานโดยใช้วิธีการสืบสานกันมาด้วยปากเปล่าหรือที่เรียกว่ามุขปาฐะ แบ่งออกเป็น 3 ปิฎก คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก ต่อมาพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์อินเดีย ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยพระองค์เอง ทรงให้มีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3 พระองค์ทรงให้จารึกเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรกเพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาพระธรรมวินัย ตลอดจนทรงส่งพระภิกษุหลายรูปไปยังดินแดนต่าง ๆ เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา (วิทย์ วิศทเวทย์.  2546 : 1)
                   หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาบันทึกลงในพระไตรปิฎกและอรรถกถา เพื่อให้คนไทยได้ศึกษาหลักคำสอน พร้อมทั้งศึกษาวิธีการสอนของพระพุทธองค์สำหรับนำไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ซึ่งการแปลพระไตรปิฎกมาสู่ภาษาไทยเริ่มขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 งานแปลได้ทำสืบต่อกันมาโดยอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของรัชกาลที่ 8 ทรงโปรดให้มีการแปลพระไตรปิฎก โดยถือเอาพระไตรปิฎกภาษามคธฉบับสยามรัฐเป็นต้นฉบับ แบ่งการแปลออกเป็น 2 สำนวน คือ แปลโดยอรรถตามความในพระบาลีพิมพ์เป็นเล่มเรียกว่าพระไตรปิฎกภาษาไทย จำนวน 2500 ชุด ๆ ละ 80 เล่ม เพื่อให้เท่ากับพระชนมายุของพระพุทธเจ้าที่ทรงมีพระชนมายุ 80 พรรษา อีกสำนวนหนึ่งแปลเป็นสำนวนเทศนาพิมพ์ลงใบลานเรียกว่าพระไตรปิฎกเทศนาฉบับหลวง แบ่งเป็น 1250 กัณฑ์ เพื่อให้ได้เท่ากับจำนวนพระสงฆ์สาวกที่มาประชุมฟังพระโอวาทปาติโมกข์จากพระพุทธเจ้าซึ่งในจำนวนกัณฑ์แบ่งเป็นพระวินัยปิฎก 182 กัณฑ์ พระสุตตันตปิฎก 1054 กัณฑ์และพระอภิธรรมปิฎก 14 กัณฑ์ (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  2539 : บทนำ)
                   อรรถกถาชาดกเป็นนิทานที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 28 ชาดกมี 550 เรื่อง ปรากฏในพระไตรปิฎก 2 เล่ม คือเล่มที่ 27 และเล่มที่ 28 มี 22 เรื่อง ขาดไป 3 เรื่อง คำว่าชาดกในพระไตรปิฎกหมายถึงผู้เกิดคือเล่าถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงเวียนว่ายตายเกิดถือเอากำเนิดในชาติต่าง ๆ ได้พบปะ ผจญกับเหตุการณ์ดีบ้างชั่วบ้างแต่ก็ได้พยายามทำความดีติดต่อกันมามากบ้างน้อยบ้างตลอดเวลาจนเป็นพระพุทธเจ้าในชาติสุดท้าย กล่าวอีกนัยหนึ่งจะถือว่าเรื่องชาดกเป็นวิวัฒนาการแห่งการบำเพ็ญคุณงามความดีของพระพุทธเจ้าตั้งแต่ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ก็ได้ ในอรรถกถาแสดงด้วยว่าผู้นั้นกลับชาติมาเกิดเป็นใครในสมัยพุทธกาล แต่ในบาลีพระไตรปิฎกกล่าวถึงเพียงบางเรื่อง (สุชีพ ปุญญานุภาพ.  2539 : 614)
                   จุดประสงค์ของอรรถกถาชาดกเพื่อใช้สอนธรรมะ พระพุทธเจ้าทรงคิดหาวิธีการสอนธรรมะให้เข้าใจได้ง่ายจึงใช้นิทานเป็นตัวนำ เป็นสื่อกลาง เป็นอุปกรณ์และเป็นอุทาหรณ์จึงทรงแสดงธรรมด้วยชาดกเพื่อศึกษาธรรมด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลิน เนื่องจากธรรมเป็นเรื่องลึกซึ้งยากที่จะเข้าใจ การศึกษาธรรมะย่อมมีความยากทำให้เกิดความเบื่อหน่ายไม่อยากศึกษา การสอนธรรมโดยยกชาดกมาเล่าเป็นอุทาหรณ์เป็นกลวิธีการสอนธรรมะที่ทำให้ผู้ศึกษาเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินและเข้าใจธรรมะได้ถูกต้องเพื่อแก้ความสงสัยของพุทธศาสนิกชน และอรรถกถาชาดกบางเรื่องเริ่มด้วยพระสาวกมีความสงสัย พระพุทธเจ้าทรงแก้ความสงสัยโดยเล่านิทานเปรียบเทียบปัญหาทำให้หมดความสงสัยในธรรมะ (พัฒน์ เพ็งผลา.  2530 : 16-18)
                   คุณค่าของชาดกเป็นคุณค่าทางด้านคำสอนที่เป็นสัจธรรม เช่น เรื่องอริยสัจ 4 และคำสอนที่เป็นจริยธรรม เช่น การคบมิตร คุณค่าด้านสังคมได้แก่การแบ่งชั้นวรรณะ การเมือง การปกครอง การอาชีพ การพนันและการกีฬา คุณค่าทางด้านวรรณคดีและบ่อเกิดวรรณคดี วรรณคดีชาดกทั้งในนิบาตและนอกนิบาตจัดเป็นวรรณคดีบาลี วรรณคดีชาดกเหล่านี้ยังเป็นบ่อเกิดวรรณคดีไทย เช่น มหาชาติคำหลวง กากีคำกลอน เป็นต้น และยังเป็นบ่อเกิดของนิทานพื้นบ้านภาคต่าง ๆ อีกด้วย เช่น เรื่องหงส์หินในภาคเหนือ เรื่องสินไซในภาคอีสานและเรื่องสุบินในภาคใต้ คุณค่าทางบ่อเกิดหนังสือนิทานสุภาษิตและนิทานธรรม เช่น เรื่องโคนันทวิศาล เป็นต้น นิทานคติธรรม เช่น เรื่องพระยาช้างฉัททันต์ เป็นต้น คุณค่าทางด้านความเชื่อ เช่น เชื่อในการกลับชาติไปเกิด คุณค่าทางด้านสุภาษิต เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น และเป็นบ่อเกิดโคลงโลกนิติด้วย คุณค่าทางด้านการสอน คือก่อนสอนต้องให้รู้จักบุคคลที่จะสอน รู้จักธรรมะ รู้จักการเปรียบเทียบ รู้จักถาม ตอบ คุณค่าด้านประวัติของพระพุทธเจ้าและพระสาวก นิทานชาดกแต่ละเรื่อง ทำให้ทราบว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ไหนมีเหตุการณ์อะไรเกี่ยวข้องกับพระองค์และพระสาวกรูปใดบ้างที่ปรากฏอยู่ในเรื่องนั้น คุณค่าทางด้านภาษาทำให้ทราบว่านิทานชาดกในสุตตันตปิฎกขุททกนิกายมีลักษณะแต่งเป็นคาถาซึ่งเชื่อว่าเป็นพุทธพจน์ ส่วนอรรถกถาชาดกภาษามีลักษณะแต่งเป็นร้อยแก้ว (พัฒน์ เพ็งผลา.  2535 : 39)
                   ชาดกมีอิทธิพลต่อสังคมที่นับถือพระพุทธศาสนา ต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ บุคลิกภาพ ค่านิยมในสังคม ชาดกถือว่าเป็นนิทานศักดิ์สิทธิ์หรือศาสนนิทาน (Myth) พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อสังคมนอกเหนือจากระบบความเชื่อในพิธีกรรม ชาดกได้กลายมาเป็นความเชื่อที่สร้างความสำนึก ความหวัง เป็นประเพณีพิธีกรรมในการสืบทอด  ชาดกได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของทั้งทางสังคม วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เช่น การเทศน์ชาดก ชาดกในพิธีกรรม ชาดกในวิถีชีวิต ชาดกในวรรณกรรมที่มีต่อสังคม ชาดกกับการสอน การอบรมคุณธรรม และชาดกกับบทบาทหน้าที่ จริยธรรมของชนชั้นปกครอง เป็นต้น (สุรพงษ์ จันลิ้ม.  2547 : 52-55)
                   ชาดกที่ได้รับความนิยมคือมหานิบาตชาดกซึ่งเป็นชาดกที่กล่าวถึงอดีตชาติของพระพุทธเจ้าที่ทรงเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญบารมีก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า มหานิบาตชาดกหรือทศชาติประกอบด้วยชาดก 10 เรื่อง คือเตมิยชาดกทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี มหาชนกชาดกทรงบำเพ็ญวิริยบารมี สุวรรณสามชาดกทรงบำเพ็ญเมตตาบารมี เนมิราชชาดกทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี มโหสถชาดกทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี ภูริทัตตชาดกทรงบำเพ็ญศีลบารมี จันทกุมารชาดกทรงบำเพ็ญขันติบารมี  มหานารทกัสสปชาดกทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี วิธุรชาดกทรงบำเพ็ญสัจจะบารมี และพระเวสสันดรชาดกทรงบำเพ็ญทานบารมี (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  2539 : บทนำ)
                   ความสำคัญของทศชาติชาดกเป็นคำตรัสเล่าจากพระโอษฐ์ของพระพุทธองค์ที่ได้ทรงบำเพ็ญบารมี 10 ประการ ความเกี่ยวพันของชาดกในพระพุทธศาสนาย่อมถือว่าเป็นเรื่องพระพุทธเจ้าที่มีมาในชาติก่อน ๆ และเป็นคำตรัสจากพระโอษฐ์เองซึ่งได้โปรดประทานให้เป็นอุทาหรณ์แก่พระภิกษุสาวกทั้งหลาย ภายหลังที่ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ได้ทรงถ่ายทอดการบำเพ็ญบารมี 10 ประการของพระองค์ในแต่ละพระชาติสู่มวลชนเกือบทั้งโลกได้รับรู้ก็เพื่อประโยชน์ของผู้อื่นโดยไม่ทรงคำนึงถึงประโยชน์ของพระองค์แม้แต่น้อย พระเจตน์จำนงของพระองค์ซึ่งมุ่งให้ผู้ศึกษาเจริญปัญญา เจริญบุญกุศลในทางพระพุทธศาสนาตามโอกาสอันสมควรสืบตลอดไป (พงศ์จันทร์ ศรัทธา.  2533 : 1-3)
                   การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ในสิบพระชาติก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า มิใช่เป็นเรื่องที่เล่าสืบ ๆ กันมาจากปากต่อปาก หากเป็นพระพุทธดำรัสจากพระโอษฐ์ตรัสเล่าแก่พุทธบริษัทโดยพระองค์เองซึ่งถือว่าเป็นพระพุทธประวัติในอดีตชาติ ในการตรัสเล่าของพระพุทธองค์นั้นทรงมุ่งแสดงหลักธรรมเป็นสำคัญคือทรงเล่าด้วยพระคาถาให้พุทธบริษัทในครั้งพุทธกาลจับความเป็นลำดับไปไม่ทรงนำข้อความร้อยแก้วมาเสริมความกำหนดว่าข้อความนั้นใครพูดกับใครให้เสียอรรถรสในการฟังในการนี้พระอรรถกถาจารย์มีจุดประสงค์ต้องการจะเผยแผ่ธรรมให้เข้าใจกัน จึงกำหนดความจับประเด็นในคัมภีร์ชาดกนั้นแล้วเรียบเรียงเป็นอรรถกถาชาดกให้ความรู้ในแง่ประวัติก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสเล่าเรื่องนั้น ๆ ทรงปรารภใคร ตรัสที่ไหน เป็นการเกริ่นนำเรื่องและให้ความรู้ว่าข้อความนั้น ๆ ใครพูดกับใคร เป็นต้น พร้อมทั้งนำคำในชาดกที่ตรัสเป็นคติธรรมแต่เข้าใจยากมาอธิบายขยายความจึงทำให้นิบาตชาดกและอรรถกถาชาดกได้รับความนิยมแพร่หลาย ฉะนั้นสาระสำคัญจึงอยู่ที่คุณงามความดีและอยู่ที่คติธรรมในนิทานนั้น ๆ (แก้ว ชิดตะขบ.  2549 : 75-76)
                   การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ยังปรากฏในทศชาติชาดกเป็นชาดกที่กล่าวถึงอดีตชาติของพระพุทธเจ้าที่เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทศชาติประกอบด้วยชาดก 10 เรื่องคือ เตมิยชาดกทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี มหาชนกชาดกทรงบำเพ็ญวิริยบารมี สุวรรณสามชาดกทรงบำเพ็ญเมตตาบารมี เนมิราชชาดกทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี มโหสถชาดกทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี ภูริทัตตชาดกทรงบำเพ็ญศีลบารมี จันทกุมารชาดกทรงบำเพ็ญขันติบารมี มหานารทกัสสปชาดก ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี วิธุรชาดก ทรงบำเพ็ญสัจจะบารมี และเวสสันดรชาดก ทรงบำเพ็ญทานบารมี  (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  2539 : บทนำ)
                   จากทศชาติทั้งสิบที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการบำเพ็ญบารมีคราวเป็นพระมหากษัตริย์ยกเว้นมโหสถชาดก ส่วนเนมิราชชาดก พระองค์ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี ในชาดกเรื่องนี้พบหลักธรรมที่เกี่ยวกับบุคคล และความสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นหลักธรรมที่มีคุณค่า และประโยชน์ในการนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวัน เพื่อแก้ปัญหาความแตกแยก ปัญหาความยากจน ปัญหาเยาวชนห่างเหินศีลธรรม และปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม วรรณกรรมเหล่านี้เป็นวรรณกรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่มีคุณค่าทางด้านจิตใจ มีคติคำสอนที่สอดแทรกในเห็นในเรื่อง บาปบุญคุณโทษ มีศิลปะการประพันธ์ที่ดี
                   จากที่ได้กล่าวมาแล้วเนมิราชาดกมีคุณค่าควรแก่การศึกษาอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพื่อการอนุรักษ์สืบสานและเผยแผ่ชาดกในรูปเอกสารงานวิจัยเพื่อที่จะได้เอกสารงานวิจัยให้ครอบคลุมทศชาติไว้เป็นสมบัติของชาติและพุทธศาสนา ดังนั้นทั้งนี้ผู้วิจัยจึงสนใจใคร่ที่จะศึกษาการวิเคราะห์หลักธรรมในเนมิราชชาดกทั้งในด้านองค์ประกอบหลักและหลักธรรมที่ปรากฏในเนมิราชชาดก เพื่อให้ทราบถึงคุณค่าของหลักธรรม เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาจิตใจบุคคลให้สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมอย่างเหมาะสมและก่อให้เกิดความสุขความเจริญทั้งทางร่างกายและทางจิตใจทั้งต่อตนเอง ต่อความสัมพันธ์กับผู้อื่น

คำถามในการวิจัย
                   1.     องค์ประกอบหลักในเนมิราชชาดกมีลักษณะอย่างไร
                   2.     หลักธรรมและคุณค่าในเนมิราชชาดกมีอะไรบ้าง ลักษณะที่พบเป็นอย่างไร
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
                   1.     เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบหลักในเนมิราชชาดก
                   2.     เพื่อวิเคราะห์หลักธรรมและคุณค่าของหลักธรรมในเนมิราชชาดกที่มีต่อบุคคลใน
                           สังคมไทย
ขอบเขตของการวิจัย
                   ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ได้กำหนดขอบเขตกลุ่มเป้าหมายและเนื้อหาที่จะศึกษาดังนี้
                   1.     ขอบเขตด้านข้อมูลที่จะศึกษาวิจัย
                   การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเอกสาร (Documentary Research) ซึ่งผู้วิจัยได้ศึกษาหลักธรรมในเนมิราชชาดก จากอรรถกถา (แปล) ขุททกนิกาย ชาดก เล่มที่ 4 ภาค 2 มหานิบาตชาดกเรื่องที่ 4 คือเนมิราชชาดก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สร้างน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ พระนักษัตร ธันวาคม พุทธศักราช  2530
                   2.     ขอบเขตด้านเนื้อหา การศึกษาวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้กำหนดขอบเขตเนื้อหาเพื่อใช้เป็นกรอบความคิดและกำหนดแนวทางแห่งการศึกษาตลอดจนการวิเคราะห์ โดยแยกประเด็นการศึกษาวิเคราะห์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้
                           2.1     องค์ประกอบหลักในเนมิราชชาดก
                                                              2.1.1 โครงเรื่อง
                                                              2.1.2 แก่นเรื่อง
                                                              2.1.3 ฉาก
                                                              2.1.4 ตัวละคร
                                                              2.1.5 บทสนทนา
                           2.2     วิเคราะห์หลักธรรมและคุณค่าของหลักธรรมในเนมิราชชาดก
                                      2.2.1     การวิเคราะห์หลักธรรม
                                                    1)      ฆราวาสธรรม
                                                     2)      อธิษฐานธรรม
                                                    3)      เวสารัชชกรณธรรม
                                                    4)      อริยวัฑฒิ
                                                    5)      อริยทรัพย์
                                                    6)      นาถกรณธรรม
                                                    7)      บารมี
                                      2.2.1     การวิเคราะห์คุณค่าของหลักธรรม
                                                     1)      ต่อตนเอง
                                                    2)      ต่อความสัมพันธ์กับผู้อื่น    
                                                     3)      ต่อสิ่งแวดล้อม
 
นิยามศัพท์เฉพาะ
                   การวิเคราะห์ หมายถึงการแยกแยะทางความคิดหรือทางวัตถุของสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อให้เห็นองค์ประกอบ และความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ที่ทำให้เกิดสิ่งนั้นหรือเรื่องนั้น
                   เนมิราชชาดก หมายถึงนิทานชาดกในทศชาติของพระพุทธเจ้าที่ทรงเสวยพระชาติเป็นพระเจ้าเนมิราชเพื่อที่พระองค์ทรงสะสมบุญบารมีในอันจะนำไปสู่การเป็นพระพุทธเจ้าในชาติต่อ ๆ ไป
                   นิทานชาดก หมายถึง เรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าที่ทรงกำเนิดเป็นพระโพธิสัตว์พระชาติต่าง ๆ ที่กำลังสร้างสมบารมีเพื่อการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเวลาต่อมา
                    อรรถกถาชาดก หมายถึง คัมภีร์ที่พระอรรถกถาจารย์แต่งอธิบายขยายนิบาตชาดกให้เข้าใจง่ายและพิสดารขึ้น
                   หลักธรรม หมายถึง หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏในนิทานชาดกเรื่อง เนมิราชชาดก อรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย
                   คุณค่าของหลักธรรม หมายถึง องค์ความรู้ของหลักธรรม ที่นำไปสู่พัฒนาจิตใจบุคคลในสังคม เพื่อให้เกิดความสุขความเจริญทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ ทั้งต่อตนเอง ครอบครัวและสังคม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
                           โครงเรื่อง หมายถึงโครงของเรื่องที่ผู้ประพันธ์กำหนดขึ้นมาก่อนที่จะเขียนโดยมีเหตุการณ์  ปัญหา  ทั้งในด้านที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของตัวละคร  และความขัดแย้งในจิตใจของ      ตัวละครเอง เหตุการณ์และปัญหาต่าง ๆ นั้นจะต้องมีความสัมพันธ์กัน
                           แก่นเรื่อง หมายถึง แกนกลางของเรื่องหรือจุดสำคัญของเรื่องที่เป็นตัวควบคุมและเชื่อมโยงเรื่องทั้งหมดเข้าด้วยกัน แก่นเรื่องหรือแนวคิดของเรื่องเป็นทัศนะที่ผู้ประพันธ์ตั้งไว้แล้วในลักษณะนามธรรม
                           ฉาก หมายถึง สถานที่ เวลา และบรรยากาศในท้องเรื่องที่ผู้เขียนบอกให้ทราบว่าเหตุการณ์หรือเรื่องราวนั้น ๆ เกิดขึ้นที่ใด หรือเวลาใด ฉากอาจเป็นสภาพภายในบ้านเล็ก ๆ หลังหนึ่ง หรือพระราชวังอันโอ่อ่าสง่างาม หรืออาจเป็นฉากที่กว้างทั้งประเทศหรือทั้งโลกก็ได้
                           ตัวละคร หมายถึง องค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของวรรณกรรมเพราะตัวละครคือผู้แสดงบทบาทในเนื้อเรื่อง ตัวละครอาจจะเป็นมนุษย์ อมนุษย์ สัตว์ ต้นไม้ ดอกไม้ สิ่งของก็ได้
                           บทสนทนา หมายถึง การเจรจาโต้ตอบระหว่างตัวละครเพื่อแสดงให้เห็นถึงลักษณะนิสัยใจคอ ความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร หรืออาจสร้างเพื่อช่วยในการดำเนินเรื่องให้กระชับ และสร้างบรรยากาศให้บทประพันธ์น่าอ่าน
                   ทศชาติชาดก หมายถึง ชาดกที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมี 10 ชาติสุดท้าย
ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย
                   1.     ได้องค์ความรู้ทางด้านองค์ประกอบหลักในเนมิราชชาดก
                   2.     ได้องค์ความรู้ทางด้านหลักธรรมในเนมิราชชาดก
                   3.     ได้ทราบถึงคุณค่าของหลักธรรมในเนมิราชชาดกซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้   ในชีวิตประจำวัน
                   4.     เป็นแนวทางส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการอ่านเนมิราชชาดกเพื่อนำไปพัฒนาหลักสูตรต่อไป
 

สารบัญ


สารบัญ

สารบัญ

                                                                                                                                                                             หน้า

กิตติกรรมประกาศ  .....................................................................................................................................            

บทคัดย่อภาษาไทย .....................................................................................................................................             

บทคัดย่อภาษาอังกฤษ.................................................................................................................................             

สารบัญ...........................................................................................................................................................          

สารบัญแผนภาพ..............................................................................................................................................       

บทที่

          1       บทนำ..........................................................................................................................................           1

                           ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา......................................................................                  1

                           คำถามในการวิจัย..............................................................................................................            4

                           วัตถุประสงค์ของการวิจัย................................................................................................             5

                           ขอบเขตของการวิจัย.........................................................................................................           5

                           นิยามศัพท์เฉพาะ.............................................................................................................            6

                           ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัย.......................................................................           

          2       เอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง............................................................................................              8

                           หลักการที่เกี่ยวข้อง..........................................................................................................           8

                                   หลักการที่เกี่ยวข้องกับอรรถกถาชาดก.................................................................              8

                                   หลักการที่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์การวิเคราะห์วรรณกรรม............................                  11

                                   หลักการที่เกี่ยวข้องกับหลักธรรม..........................................................................            26

                           งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง...........................................................................................................          36

                                   งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรม.........................................................................            36

                                   งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหลักธรรม...........................................................................            40

                                   งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคุณค่าของหลักธรรม........................................................               43

                           กรอบแนวคิดของการวิจัย...............................................................................................           46

สารบัญ (ต่อ)


บทที่                                                                                                                                                                     หน้า

          3.      วิธีดำเนินการวิจัย......................................................................................................................           47

                           วิธีดำเนินการวิจัย..............................................................................................................           47

                           ระเบียบวิธีวิจัย...................................................................................................................          47

                           การวิเคราะห์ข้อมูล...........................................................................................................           48

                           เอกสารที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์................................................................................               50

                           สรุปผลและการนำเสนอผลการวิจัย..............................................................................              50


          4       การวิเคราะห์องค์ประกอบหลักในเนมิราชชาดก..............................................................                  51

                           โครงเรื่อง...........................................................................................................................         51

                           แก่นเรื่อง............................................................................................................................         64

                          ฉาก                                                                                                                                              67

                           ตัวละคร..............................................................................................................................        72

                           บทสนทนา.........................................................................................................................        80


          5       การวิเคราะห์หลักธรรม และคุณค่าในเนมิราชชาดก........................................................                     99

                           การวิเคราะห์หลักธรรม...................................................................................................           99

                                   อธิษฐานธรรม...........................................................................................................         99

                                   ฆราวาสธรรม............................................................................................................        103

                                   เวสารัชชกรณธรรม.................................................................................................         106

                                   อริยวัฑฒิ....................................................................................................................      111

                                    อริยทรัพย์...................................................................................................................     115

                                    นาถกรณธรรม..........................................................................................................      120

                                    บารมี...........................................................................................................................    128

                           การวิเคราะห์คุณค่าของหลักธรรม................................................................................            137


6                      สรุป อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ.....................................................................................        143

                           สรุปผลการวิจัย..................................................................................................................        143

                           อภิปรายผลการวิจัย...........................................................................................................        148

สารบัญ (ต่อ)


บทที่                                                                                                                                                                   หน้า

6                      สรุป อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ (ต่อ)

                           ข้อเสนอแนะ.....................................................................................................................         151

บรรณานุกรม           .....................................................................................................................................         153

ภาคผนวก                 .....................................................................................................................................         157

ภาคผนวก ก     พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุทกกนิกาย ชาดก เล่มที่ 4 ภาค 2.............................                       158

ภาคผนวก ข     หนังสือขอความอนุเคราะห์เป็นผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบเครื่องมือวิจัย                                            196

ประวัติผู้วิจัย             .....................................................................................................................................        202

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สารบัญแผนภาพ

 

แผนภาพที่                                                                                                                                           หน้า

        1        กรอบแนวความคิดในการวิจัย................................................................................................           46